เก็บเงินลงทุนตามช่วงวัย แบ่งแบบไหนถึงเหมาะสม?
เก็บเงินลงทุนตามช่วงวัย แบ่งแบบไหนถึงเหมาะสม ?
ทุกช่วงอายุมีเรื่องที่ให้ความสำคัญแตกต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ก็ยังคงจำเป็นต้องทำคือ การเก็บเงินและการลงทุน ซึ่งความจริงก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละคนว่าเอื้อให้ทำสิ่งนี้ได้มากน้อยแค่ไหน เราเลยมาไกด์เป็นแนวทางให้นิดหน่อยว่าแต่ละกลุ่มวัยนั้น ควรจัดการยังไง
กลุ่มคน First Jobber วัย 22-30 ปี
เมื่อก้าวเข้าสู่การทำงานเริ่มมีรายได้เป็นของตัวเอง สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังคือการใช้เงินเพื่อตอบสนองทุกความต้องการของตนเอง เงินเดือนที่ได้อาจหมดไปกับของฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็น เราไม่ได้บอกว่าการหาความสุขให้ตัวเองเป็นเรื่องไม่ควร แต่ต้องรู้ขีดจำกัดไม่ล้ำเส้นจนทำให้ตัวเองเดือดร้อน ดังนั้นพยายามอย่าเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ โดยทำการออมก่อนเลยเป็นอันดับแรก ประมาณ 10% ของรายได้ก็ยังดี เพื่อนำไปฝากธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยสูง และแนะนำว่าให้เลือกแบบตัดบัญชีอัตโนมัติไปเลย หรือจะนำไปซื้อสลากออมสิน แม้แต่ออมโดยการทำประกันชีวิตก็ยังได้ ต่อด้วยแบ่งอีก 5-10% ไปลงทุน ที่พอให้เกิดรายได้เล็กๆ น้อยๆ ความเสี่ยงไม่สูงมากอย่างกองทุนรวมหุ้น
กลุ่มคน สร้างครอบครัว วัย 31-40 ปี
อยู่ในช่วงที่คนส่วนใหญ่เริ่มก่อร่างสร้างตัวอยากมีครอบครัว เริ่มมีทรัพย์สินชิ้นใหญ่เป็นของตัวเอง เช่น คอนโด บ้าน รถ เป็นต้น ซึ่งบอกเลยว่ายิ่งต้องเก็บออมมากเท่านั้น เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มีภาระ ยิ่งควรมีเงินไว้ใช้สำหรับเกิดเหตุฉุกเฉินมากขึ้นเท่านั้น อย่างน้อยแบ่งรายได้ไว้สำหรับ เก็บออม 20% ลักษณะการออมก็เหมือนกับกลุ่มแรก อย่าฝากบัญชีที่ได้ดอกเบี้ยน้อยเกินไป ขณะที่การลงทุนก็ให้แบ่งไว้พอๆ กัน 15-20% อาจนำเงินไปลงกับหลักทรัพย์เลือกหุ้นที่ให้ปันผลมาก จะซื้อทองคำเก็บไว้ หรือหุ้นกับเพื่อนทำธุรกิจเล็กๆ เพื่อให้มีรายได้เข้ามาหลายทาง
กลุ่มคนสร้างความมั่นคง วัย 41-50 ปี กลุ่มคนในช่วงอายุนี้เงินเดือนย่อมสูงขึ้นเป็นธรรมดา แต่ก็จะแลกมาพร้อมกับภาระที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นรถ บ้าน และเด็กๆ ที่กำลังอยู่ในวัยเรียนในช่วงที่ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้าเกิดเหตุสุดวิสัยอะไรขึ้นมาคงต้องใช้เงินหลายบาท จึงควรเก็บออมอาจจะซะประมาณ 30% ของรายได้ ส่วนการลงทุน แบ่งไว้ 20% หันไปลงทุนด้านอสังหาฯ หรือกองทุนรวม ประเภท LTF หรือ RMF เนื่องจากสามารถช่วยลดหย่อนภาษีได้ พร้อมกับควรทำประกันไว้ด้วยถ้าสามารถซื้อประกัน 2 กรมธรรม์ขึ้นไป ก็จะช่วยให้เกิดความมั่นคงทางชีวิต และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินก้อนสำหรับค่ารักษาพยาบาลอีกต่างหาก
กลุ่มคนเตรียมตัวเกษียณ-หลังเกษียณ วัย 51 ปีขึ้นไป วัยนี้หลายคนเริ่มวางมือจากการทำงานหลังจากเหน็ดเหนื่อยมานาน ก็จะหันมาหาความสุขให้ตัวเองมากขึ้น และใช้ชีวิตอยู่กับลูกหลาน ทำให้จะเก็บออมฝากเงิน 30% ก็ทำได้สบาย แต่ควรเลือกให้สามารถเบิกถอนได้ตลอดเวลา เพราะวัยผู้สูงอายุมีโอกาสเจ็บป่วยได้มาก และอีก 20-25% หันไปลงทุนด้านอสังหาฯ อาจปล่อยเช่าคอนโด ให้เช่าบ้าน หรือเลือกลงทุนกองทุนรวมที่มีการจ่ายปันผล เพื่อก่อให้เกิดรายได้ประจำนั่นเอง
คำถามที่พบบ่อย?
1. ควรเก็บเงินลงทุนเท่าไหร่ในแต่ละช่วงวัย?
ช่วงอายุ 22-30 ปี ควรเก็บออมไว้ประมาณ 10-15% ของรายได้ ช่วงอายุ 31-40 ปี ควรเก็บออมไว้ประมาณ 20-25% ของรายได้ ช่วงอายุ 41-50 ปี ควรเก็บออมไว้ประมาณ 30% ของรายได้ และช่วงอายุ 51 ปีขึ้นไป ควรเก็บออมไว้ประมาณ 30-35% ของรายได้
2. การลงทุนที่เหมาะสมสำหรับแต่ละช่วงวัยคืออะไร?
ช่วงอายุ 22-30 ปี แนะนำให้ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นที่มีความเสี่ยงปานกลาง ช่วงอายุ 31-40 ปี แนะนำให้ลงทุนในหุ้นที่มีการจ่ายปันผลสูง หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ช่วงอายุ 41-50 ปี แนะนำให้ลงทุนในกองทุน LTF หรือ RMF เพื่อประโยชน์ทางภาษี และช่วงอายุ 51 ปีขึ้นไป แนะนำให้ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่สามารถให้เช่าเพื่อสร้างรายได้ประจำ
3. ควรเก็บเงินไว้สำหรับเหตุฉุกเฉินเท่าไหร่?
ควรเก็บเงินสำรองไว้สำหรับเหตุฉุกเฉินประมาณ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายประจำเดือน เพื่อให้มีเงินใช้จ่ายได้อย่างเพียงพอในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด
การเก็บเงินลงทุนตามช่วงวัยเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราสร้างความมั่นคงทางการเงินในอนาคต โดยแต่ละช่วงวัยควรมีสัดส่วนการออมและการลงทุนที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับภาระและความต้องการในแต่ละช่วงชีวิต ซึ่งการวางแผนการเงินที่ดี จะช่วยให้เราสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมั่นใจ